042 ธรรมปัจเวกขณ์
ใคร่ขอเน้นเรื่องที่ให้ตรวจตรา ดูสภาพที่มันโหยหา อาวรณ์ หรือดิ้น เราอยู่ที่ไหนๆก็ตาม เราจะสัมผัสสัมพันธ์ มีอะไร เป็นองค์ประชุม องค์ประกอบ เป็นสิ่งแวดล้อม อยู่กับเราก็ตาม แล้วเราก็กลายเป็น คนหลบเลี่ยง หนี นั่นเรียกว่าผลัก หรือดิ้นอยู่กับเราเอง เราอยู่แล้ว เราก็โหยหาอันอื่น อยากจะไปนั่น อยากจะไปโน่น อยากจะเอาโน้น เอาอะไรที่อื่นๆ เราต้องตรวจตราใจของเราว่า มันไม่หยุด มันจรไปบ้าง หรือว่ามันอยู่ตรงนี้ แล้วมัน ก็อยู่ไม่ได้ มันผลัก มันดิ้น มันดีดดิ้น มันไม่สนิท มันไม่สงบ มันไม่ยอม มันไม่หยุด เราก็ตรวจจริงๆ ถ้าแก้ไขตัวนี้ ได้ละเอียดลออ แล้วละก็ จะเป็นคนที่ได้กำไร เพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะฉะนั้น ในสภาพที่เรามีแบบฝึกหัดอยู่ ตามสถานที่นั้นที่นี้ ไปตามธรรมชาติ ฝึกปรือไป มีองค์ประกอบ หรือมีกาโย สิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน ในสิ่งแวดล้อม ที่มีคนมากงานมาก ในสิ่งแวดล้อม ที่มีคนน้อย งานน้อย มีที่ใกล้ มีที่ไกล มีความพร้อม อะไรต่ออะไรต่างๆนานา ในองค์ประกอบต่างๆ เราเป็นคน จะต้องดีดดิ้น มากไหม หรือ โหยหามากไหม ต้องตรวจตราจริงๆ แล้วก็พิจารณาว่า เรายังจะต้องการอะไร กันนักกันหนา ชีวิตนี้ของเรานี่ มันขาดแคลนอะไร กันนักกันหนา เราอยู่แค่นี้ มันไม่สมบูรณ์อีกหรือ ยังไม่สันโดษอีกหรือ เรายังจะต้อง ตะกละตะกลาม จะต้องไปโน่นมานี่ อยากได้โน่น อยากได้นี่ ผลักโน่น ดันนี่ อะไรต่ออะไร ไม่เข้าเรื่อง เข้าราว จนเราเอง เราไม่อิสระสมบูรณ์ ไม่เป็นกลาง หรือ ไม่เป็นสูญ เป็นกลางนี่เข้าอะไรก็ได้ หรือเป็นสูญนี่ อะไรๆก็ไม่ต้องติด นี่เป็นตัว สภาพสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น มันยังมีเหลือเศษ หรือไอ้โน่น ไอ้นี่อะไร ต้องดูให้แยบคาย อ่านจริงๆ วกเวียนไป พิสูจน์ไป แต่ละปีๆ แต่ละสภาพที่เราเป็นอยู่ เข้าพรรษาบ้าง ออกพรรษาบ้าง มีกิจมีการมีงาน ไอ้โน่นไอ้นี่บ้าง อ่านให้ชัด การจะจรไป จรไปนั่นจรไปนี่ ก็ตามน่ะ เราทำตามใจเรา มากไปไหม ไม่ทำตามใจ ทำตามหมู่ ทำตามกฎ ตามระเบียบ ตามหมู่มิตรมวลสหาย เป็นไป ดูซิ จบที่สุด มันจะจบอยู่กับหมู่ เมื่อเราเข้าอยู่ มีหมู่ มีมวลได้ จบแล้ว เราก็ไม่มีปัญหาอะไร กับหมู่กับมวลเนี่ย มีเรื่องมีสิ่งที่จะต้อง สร้างสรรเป็นไป เป็นคุณ เป็นค่า เป็นประโยชน์ เราก็ไปได้ ทำได้ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติสลับไป สลับมา แม้เราจะอยู่ รวมหมู่ รวมกลุ่มกัน เข้าพรรษานี่ จึงเป็นประโยชน์มาก ที่เราจะได้มีสัมผัส มีสิ่งแวดล้อม มีอะไรต่ออะไร ต่างๆนานา พอสมควร บางคนชอบไปตะลอน ไปเดี่ยว พอมาอยู่กับหมู่บ้าง ก็ต้องพยายาม หัดละลด ถ้าไม่ละลด มันก็จะเป็นอย่างเดิม เราก็ตะลอนไปเดี่ยว อยู่นั่นแหละ ถ้าเผื่อว่าละลดได้ มันไม่ตะลอนหรอก มันก็อยู่กับหมู่กับฝูง อยู่กับหมู่กับฝูงก็ต้อง ทำงานทำการ ดังที่เอา นาถกรณธรรม ที่เป็นข้อ กิงกรณีเยสุ ทักขตา ยืนยันแล้วว่า เรามีที่พึ่ง นาถกรณธรรม คือธรรมะอันเป็นที่พึ่ง เมื่อเรามีที่พึ่งแห่งตน มีความขยัน หมั่นเพียร ช่วยเหลือเฟือฟาย งานการหมู่ฝูง เพื่อนสพรหมจรรย์ ทั้งหลายแหล่ ไม่ว่างานต่ำงานสูง แล้วเรา ก็ละลดกิเลสไป ซ้อนไปอีก ที่สุดมันก็จะจบอยู่ที่เรา พรหมจรรย์ทั้งหมด มันก็อยู่ที่มิตร มวลมิตร มวลหมู่ มิตรดี เพื่อนดี สหายดี พรั่งพร้อมกันประชุม พรั่งพร้อมกันตัดสิน พรั่งพร้อมกันเลิก พรั่งพร้อมกันทำกิจ มันก็เป็นไป ชีวิตมันก็จบสมบูรณ์ได้ หรือแม้ไม่จบ ถ้าเรารู้เป็นสัมมาแล้ว เราจะได้บทฝึกหัด เราจะได้ข้อ ที่จะต้อง มาปฏิบัติขัดเกลา อยู่เสมอไป เพราะอันใด มันมากมันเกิน มันไม่ไหว มันแรง ก็เคลื่อนย้ายไปอยู่ ในส่วนสัด ที่มันพอเป็นไปได้ อันไหนที่มันน้อยไป เราก็เติมขึ้น อย่าเป็นคนเสียท่า ในการศึกษา เพราะฉะนั้น สิ่งประกอบที่สำคัญ คนใดเลือกกรรมฐาน ให้ตนเองถูกได้เก่ง คนนั้นจะมีการขัดเกลาได้มาก ตนจะได้ประโยชน์มาก ถ้าคนใดได้แต่หนี ได้แต่เลี่ยง ช้าๆเป็นชาติๆนะ มันไม่ได้เรื่อง ช้านี่ มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา ช้าเป็นชาติๆ ทีเดียวน่ะ ไม่ใช่เรื่องธรรมดา ถ้าผู้ใดขยันขันแข็งหมั่นเพียร มีผู้รู้อยู่ ก็ต้องพยายาม หาโอกาส ฉวยโอกาส เมื่อมีผู้รู้ มีผู้แนะนำ มีอะไรก็ขยันหมั่นเพียร เข้าไปตกอยู่ ในหมู่ผู้ไม่รู้แล้ว ถูกยิ่งเขาแนะนำเพี้ยนๆ เบี้ยวๆ เบี่ยงๆ ออกไปไกล ช้า เสียเวลาออกไปอีก มากมาย ฉะนั้น เมื่อมีผู้รู้ ผู้แนะนำ ผู้อะไรดีๆอยู่แล้ว ขยันหมั่นเพียร ทำเถอะ มันขาดตกบกพร่องอะไร เราก็มาสอนมาทาน มาศึกษาเข้าไปดีๆ แล้วก็ปฏิบัติจริงๆ ก็จะเห็นผล จริงๆน่ะ ความเพียร จึงเป็นที่มา แห่งความสำเร็จ อะไรทุกอย่าง ทุกๆอัน ข้อสำคัญ ต้องรู้ถูก รู้จริง เป็นสัมมาทิฏฐิให้ได้ แล้วเราก็ฝึกหัด อบรมของตนไป ที่พยายามเน้น พยายามย้ำ ในเรื่องของการตรวจ ดูจริงๆ ในเรื่องตรวจการโหยหาอาวรณ์ หรือ การดิ้นไม่หยุดนี่ จึงเป็นเรื่องที่ เราจะต้องอ่านจริงๆ แม้แต่เรื่องที่เรายังซึม ซึม เศร้า โงกง่วง หลบน่ะ อันนี้ไม่ใช่สภาพสมบูรณ์ ก็ต้องพยายามหางาน หาการ หาความตื่น เบิกบาน ร่าเริง ให้มันเป็น ใส่ใจ งานอะไรที่มันเป็น งานที่เราควรใส่ใจ หางานให้ใส่ใจน่ะ หางานใส่ใจ ในงานนั้นๆๆ ที่ทำอยู่ ก็แก้ นี่เป็นข้อที่ ๑ เลย ที่ พระพุทธเจ้าท่านสอน เราทำงานอะไรอยู่ ใส่ใจงานนั้น ให้ดีๆ ไม่มีงาน ก็หางานให้ตัวเอง ได้มีอะไรทำ ใส่ใจในงานนั้นๆ ทำงานนั้นๆ แล้วเรา จะเลิกง่วง เลิกโงก ไม่เช่นนั้น เราก็ได้แต่ซึม เงื่องๆ หรือไม่ก็ตกไปอยู่ ในภวภพ อยู่อย่างนั้นเอง แล้วมันยิ่งชิน ยิ่งชา แล้วเราก็ไปหลงผิดด้วย ถ้าไม่หลงผิด ก็อย่าไปสร้างความชินชา ในสิ่งเหล่านั้น จะต้องเป็น คนที่ตื่นอยู่ รู้อยู่ เบิกบานอยู่ ไม่ใช่ซึมๆ เซาๆ หลบๆ เลี่ยงๆ อย่างนั้นน่ะ ความหมายพวกนี้ ฟังดูมันเล็กน้อย แต่แท้จริงลึกซึ้ง เราจะต้องเข้าใจ ให้ถูกต้องเต็ม ตรงตามที่ได้แนะนำ ละเอียดลออ มาเรื่อยๆ เสมอๆ ขอให้พวกเราได้สังวร สำรวม ให้ได้ประโยชน์ ในการอยู่กับหมู่ก็ดี หรือว่า ในการที่จะเป็นไป แต่ละวาระเวลา แต่ละวัน แต่ละปี เราจะได้ประโยชน์ ตลอดทุกๆ เวลาน่ะ ก็ขอย้ำ จุดที่ย้ำนี้ ให้สำคัญ และพยายามทำให้แยบคายละเอียด อย่าเอาความเข้าใจเดิม ที่เป็นความเข้าใจ ปักมั่น อะไรมั่น โดยที่หลงตัว หลงตนอยู่ เป็นโมหะ หลงเป็นอัตตา ตัวเองพอใจ ตัวเอง อย่าไปหลงอย่างนั้น เป็นอันขาด พยายามวิเคราะห์วิจัย และทำตัวเอง ถอดตัวถอดตน ออกมาดูด้วยเหตุ ด้วยผลชัดๆ เราจะเป็นคน ที่มีปัญญา ละเอียดลออ จะได้รู้ว่า อ้อ! เรานึกว่าเราถูก แท้จริงส่วนผิด มันมีอยู่แท้ เราจะได้แก้ไข ปรับปรุง และเราก็จะได้ผ่านขั้น เลื่อนขั้น ไปสู่เป้าหมาย ที่เราต้องการ ได้สมบูรณ์สูงสุด เป็นที่สุด สาธุ. ธรรมปัจเวกขณ์ ๒๕๒๖
|